การจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management) เป็นกระบวนการจัดการสถานที่ที่ใช้ในการจัดเก็บสินค้า ตำแหน่ง บริเวณที่ตั้งในการจัดเก็บสินค้า มีการควบคุมการนำสินค้าเข้า (Inbound) จนถึงการนำสินค้าออกจากคลังสินค้า (Outbound) ซึ่งการจัดการคลังสินค้ามีกิจกรรมหลัก ได้แก่
- งานรับสินค้านำเข้าคลังสินค้า (Goods Receipt)
- การตรวจพิสูจน์ทราบสินค้านำเข้าคลังสินค้า (Identify goods)
- การตรวจแยกประเภท (Sorting goods)
- งานจัดเก็บสินค้า (Put away)
- งานดูแลรักษาสินค้าภายในคลังสินค้า (Holding goods)
- งานจัดส่งสินค้า (Dispatch goods)
- การนำสินค้าออกจากที่เก็บในคลังสินค้า (Picking)
- การจัดส่งสินค้าออกจากคลัง (Shipping)
- การส่งสินค้าผ่านคลังโดยไม่ต้องนำมาเก็บในคลังสินค้า (Cross docking)
ส่วนการจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) มีเป้าหมายในการสร้างความสมดุลในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ดูแลจัดการตั้งแต่การรวบรวมจดบันทึกสินค้าเข้า-ออก การควบคุมให้มีสินค้าคงเหลือในคลังสินค้าให้มีปริมาณที่เหมาะสม เป็นระเบียบ สินค้าไม่ขาด และไม่มากเกินไป นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงช่วงเวลา และระยะเวลาในการนำส่งสินค้า เพื่อให้สินค้าที่มีอยู่ สามารถส่งมอบได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนในการจัดเก็บสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยไม่กระทบต่อระดับการให้บริการ
ต้นทุนดังกล่าว เช่น
- ต้นทุนจากค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อ (Ordering Cost)
- ต้นทุนจากค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา (Carrying Cost)
- ต้นทุนจากค่าใช้จ่ายเนื่องจากสินค้าขาดแคลน (Shortage Cost หรือ Stock Cost)
- ต้นทุนจากค่าใช้จ่ายในการตั้งเครื่องจักรใหม่ (Setup Cost) เป็นต้น
ดังนั้นการบริหารจัดการคลังสินค้า และสินค้าคงคลังที่ดี จะช่วยทำให้การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค